ผู้ชมทั้งหมด 458
ต้นปี 66 ทอท. เริ่มเข้าบริหาร 3 สนามบิน “อุดรฯ–บุรีรัมย์–กระบี่” แทน ทย. ดันศักยภาพเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยรับความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบคาดว่า ทอท. จะสามารถเริ่มเข้าไปดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2566
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการดำเนินงานนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนหน่วยงานบริหารจัดการ ทาง ทย.ต้องคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และ ทอท.จะต้องเข้าไปเช่าพื้นที่แทน โดย ทอท. ต้องตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) เพื่อนำมูลค่าวงเงินดังกล่าว เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานให้มีความเข้มแข็งทั้งนี้ตนได้ให้นโยบายว่า ทอท.จะต้องไปศึกษาวิธีการบริหารให้รอบคอบ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวทางข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด ซึ่งผ่านมาก็มีการศึกษาเรื่องการโอนสนามบินไว้แล้ว แต่เป็น 4 สนามบินไม่ใช่ 3 สนามบินตามมติ ครม.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในการบริหารสนามบินนั้น ตนมีนโยบายที่ต้องการลดความหนาแน่นของผู้โดยสาร จากปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น อยากให้กระจายออกไปยังสนามบินภูมิภาคบ้างไม่ใช่เฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ แต่ผู้โดยสารในประเทศ (Domestis) ก็เช่นกันควรมีเส้นทางบินต้นทางเริ่มต้นในภูมิภาคไม่ใช่แค่ที่ดอนเมืองเพียงแห่งเดียว เช่น เส้นทางนครราชสีมา (โคราช)-หัวหิน หรือ โคราช-เชียงใหม่เป็นต้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)
ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท
โดยการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต