จับตากลุ่ม ปตท.รุกธุรกิจEVครบวงจร…ก้าวสู่บทบาทใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 1,491 

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) กำลังเป็นที่พูดถึงกันมาก หลายบริษัทได้เตรียมความพร้อมมาหลายปี ขณะที่ปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในการลงทุน หลายบริษัทเริ่มขยับตัวตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมเชิงรุกในการลงทุน

กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานของไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เตรียมความพร้อมลงทุนธุรกิจ EV แบบครบวงจร ล่าสุดได้ให้บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ปตท.ถือหุ้น 100% จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ตามกลยุทธ์ New S-Curve ของปตท. ผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อาทิ บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดปะจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า 

นอกจากนี้แล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ปตท.กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (Foxconn Technology Group) จากประเทศไต้หวันได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นหน้าจับตามองว่ากลุ่มปตท.ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจ EV อย่างเต็มตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้นี้

ศึกษาตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้นกลุ่มปตท.จะดำเนินการลงทุนทั้งการผลิตแบตเตอรี่, ยานยนต์ไฟฟ้า, โครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์ม ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการรอนโยบายของภาครัฐ

สำหรับการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้นปตท.ได้ลงนาม MOU กับ Foxconn Technology Group ประเทศไต้หวันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะสามารถลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้หรือไม่ เบื้อต้นกำลังการผลิตอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคันต่อปี

ด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้นปตท.อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบโดย EVME PLUS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท. เป็นแพลตฟอร์มบริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดปะจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ภายในเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายนนี้

เร่งขยายสถานีอัดปะจุไฟฟ้า

ขณะที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็น Flagship ของ กลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุน สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) โดย OR มีเป้าหมายขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมัน PTT Station เพิ่มอีก 100 แห่งในปี 2564 จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วกว่า 30 แห่ง

ส่วนการดำเนินการขยายนอกสถานีบริการน้ำมันจะลงทุนโดย EVME PLUS ซึ่งผู้บริหารปตท.เคยบอกว่าตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการ 100 แห่งในปีนี้ จะส่งผลให้กลุ่มปตท.มีสถานีอัดปะจุไฟฟ้าให้บริการรวมเป็น 200 แห่ง

GPSC เป็นหัวหอกผลิตแบตเตอรี่

การลงทุนแบตเตอร์รี่ของกลุ่ม ปตท.นั้นล่าสุด บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPCS แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้เปิดเดินเครื่องโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานภายใต้แบรนด์ G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง  

ส่วนนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid นั้นเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น GPSC ก็ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (“AXXIVA”) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M ซึ่ง GPSC มีเป้าหมายการเข้าระดมทุนของ AXXIVA ในครั้งนี้ เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ Semi-solid ระยะที่ 1 ที่ประเทศจีน มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน เช่น Chery New Energy Automobile 

“ต้องติดตามกันดูว่าการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.จะก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญได้เทียบเท่ากับบทบาทการเป็นผู้นำได้พลังงานของประเทศไทยได้หรือไม่อย่างไร แล้วนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของภารัฐจะสามารถผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายประเทศมากขึ้นในระยะเวลาที่กำหนดเป้าหมายไว้และจะสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้นำการผลิตยานยต์ไฟฟ้าอันดับต้นของภูมิภาคได้หรือไม่”