จ่อปิดตำนานสนามงู ทอท.พร้อมขยายเป็นรันเวย์ รองรับเที่ยวบินเป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง  

ผู้ชมทั้งหมด 559 

จ่อปิดตำนานสนามกอล์ฟกานตรัตน์ รมว.คมนาคม เร่งทอท.ร่วมศึกษารายละเอียดชดเชยเงินให้ทอ. มั่นใจได้ข้อสรุปปีนี้ ด้าน “กีรติ” วางแผนพัฒนาเป็นรันเวย์ รองรับเที่ยวบินเป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม และการมอบพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ (สนามงู) สำหรับใช้ประโยชน์ด้านการบินพลเรือน สนับสนุนนโยบาย Aviation Hub ว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กองทัพอากาศ (ทอ.) และกระทรวงคมนาคมร่วมมือกันในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบาย “Aviation Hub” ของรัฐบาล ซึ่งกองทัพอากาศพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในมิติของการบินพลเรือน โดยมีประเด็นหารือร่วมกันในเรื่องการมอบสนามกอล์ฟ กานตรัตน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสนามงูให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ด้านการบินพลเรือน ซึ่ง กองทัพอากาศกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้ประสานงานกันในเบื้องต้นแล้ว และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณารายละเอียดร่วมกัน

พร้อมกันนี้ตนยังได้ได้มอบนโยบายให้ ทอท. พิจารณางบประมาณในการชดเชยรายได้บุคลากรและรายได้จากสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุน ทอ. อย่างสมเหตุสมผล จากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามงู เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถเที่ยวบินจาก 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้มาสู่ประเทศได้เพิ่มขึ้น

“การประชุมหารือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งในอนาคตทั้งสองหน่วยงานจะมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการบินและด้านเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาลได้โดยเร็ว”

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท .กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันนั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับทอ.เท่าไหร่ ส่วนแผนการนำเอาพื้นที่สนามกอล์ฟการตรัตน์ขนาด 355 ไร่มาใช้ประโยชน์นั้นทางทอท.มีการวางแผนใช้พื้นที่สนามกอล์ฟการตรัตน์เป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกพัฒนาเป็นพื้นที่เขตปลอดภัยข้างรันเวย์ (Runway Strips) ส่วนที่ 2 คือประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยนำเอาพื้นที่ได้รับมอบมาพัฒนาเป็นทางขับคู่ขนาด สามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมงจาก 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับทอท.เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกองทัพอากาศพบว่าผลกระทบในการไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟนั้นจะผลกระทบด้านยุทธการ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ในอนาคตหากมีสถานการณ์วิกฤตขึ้นกองทัพอากาศจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคงทันที รวมทั้งจะมีผลกระทบการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ ประโยชน์ด้านสวัสดิการกับข้าราชการกองทัพอากาศ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบกับขวัญและความรู้สึกของข้าราชการกองทัพอากาศ เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็นข้าราชการกองทัพอากาศทั้งในปัจจุบันและผู้ที่เกษียณแล้ว ขณะเดียวกับพนักงานสนามกอล์ฟ จำนวน 49 คนจะขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกันโดยรอบพื้นที่สนามกอล์ฟยังมีผู้ประกอบการร้านค้าประจำหลุมต่างๆ ที่จะขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว และการไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ ยังส่งผลให้ขาดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน อย่างไรก็ดี ทางกองทัพอากาศประเมินผลกระทบด้านรายได้ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ โดยประมาณการเงินชดเชยรวมประมาณ 138 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ผลกระทบกับรายได้แคดดี้ จำนวน 250 คน (ไม่รวมครอบครัว) ประมาณปีละ 75 ล้านบาท 2. ผลกระทบกับพนักงานและเจ้าหน้าที่สนาม จำนวน 51 คน ประมาณปีละ 9.1 ล้านบาท

3. เสียรายได้จากการดำเนินการกิจการ นำส่งเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ ประมาณปีละ 5.5 ล้านบาท 4.ผลกระทบกับทรัพย์สิน เครื่องจักร 35 รายการ ประมาณ 12 ล้านบาท 5.ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างอาคารคลับเอาส์ ประมาณ 35 ล้านบาท 6. ผลกระทบกับงบลงทุนสร้างรายในสนาม ประมาณ 1.8 ล้านบาท และ 7.ผลกระทบกับผู้ประกอบการภายในสนาม 15 กิจการ

นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังประเมินการจัดใช้งบประมาณที่จะต้องเกิดขึ้น หากไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ โดยแบ่งงบออกเป็น ชดเชยรายได้และบุคลากร คาดการณ์ไว้ที่ปีละ 89.6 ล้านบาท และงบค่าสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ ประมาณ 48.8 ล้านบาท รวมทั้งยังมีงบค่าก่อสร้างอาคาร Sport Complex แห่งใหม่ ที่ต้องการให้ ทอท.สนับสนุน ประเมินวงเงินลงทุนในหลักพันล้านบาท