ผู้ชมทั้งหมด 645
“การบินไทย” ยืนยันเดินหน้าศึกษาลงทุน MRO พร้อมเปิดกว้างรับพันธมิตรหลายราย ชี้ไม่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับผู้ผลิตเครื่องบินรายเดียว พร้อมศึกษาลงทุนทั้งในสนามบินอู่ตะเภา ดอนเมือง สุวรรณภูมิ คาดศึกษาแล้วเสร็จภายในกลางปี 66
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผย ถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ว่า ที่การบินไทยได้มีการศึกษาแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากแอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ถอนตัวไม่เข้ามาร่วมทุน หลังจากติดปัญหาด้านกฎหมายการร่วมทุนและกฎหมายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการการศึกษาการลงทุน MRO นั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพียงอย่างเดียว แต่มีการศึกษาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และที่ท่าอากาศยานดอนเมืองด้วย
ขณะเดียวกันหลังจาก “แอร์บัส” ถอนตัวทางการบินไทยก็ได้มีการเจรจากับพันธมิตรรายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เจาะจงเฉพาะพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน โดยจะมีพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการศูนย์ซ่อมอากาศยาน พันธมิตรที่มีความสามารถด้านการตลาด ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอากาศยานรายเดียว โดยผลการศึกษาและข้อสรุปเรื่องพันธมิตรคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้ข้อสรุปประมาณกลางปีนี้ หรือไม่เกินไตรมาส 3/2566 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นการบินไทยได้เคยกำหนดเปิดให้บริการโครงการ MRO ในปี 2566
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการ MRO นั้นเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนา EEC โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมที่มีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจากแผนการศึกษาเดิมนั้นมีมูลค่าการลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.งานโครงสร้างพื้นฐาน และงานโยธา กองทัพเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบ วงเงิน 7,000 ล้านบาท 2.งานติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ทางเทคนิคต่าง ๆ วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท