การบินไทยจับมือ ทอท. ดันกรุงเทพฯ เป็น HUB การบินระดับโลก

ผู้ชมทั้งหมด 1,244 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Connecting the Unconnected” ร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินชั้นนำระดับโลก โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 องค์กร นำโดย นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ และ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ให้บริการเที่ยวบินสู่ 61 จุดหมายปลายทาง ครอบคลุมเครือข่ายเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศทั้งในทวีปเอเชีย และเส้นทางข้ามทวีปในยุโรปและออสเตรเลีย และบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน ซึ่งมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็น International Gateway ที่มีศักยภาพรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในการเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้บรรลุเป้าหมายในการกำหนดแผนงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินชั้นนำระดับโลก

พร้อมยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสารในทุกมิติ มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเช็คอิน เช่น การเช็คอินผ่าน Mobile Application ทั้งของการบินไทย และ Sawasdee by AOT ส่งเสริมการเช็คอินด้วยตนเอง (Self Service Check-In หรือ Check-In KIOSK) ตลอดจน Biometric Check-in เป็นต้น

รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเที่ยวบินในมิติต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารตารางเวลาขึ้น-ลงเที่ยวบิน การลดระยะเวลาขั้นต่ำในการต่อเครื่อง (Minimum Connecting Time) การขยายเวลาการเช็คอินล่วงหน้า การบริหารหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) การบริหารอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบิน C D และ E เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารของการบินไทยและสายการบินพันธมิตรสตาร์อัลไลแอนซ์

นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบในดำเนินการในแต่ละมิติให้บรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่เป็นข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าว