ผู้ชมทั้งหมด 1,073
กรมทางหลวงชนบทดำเนินโครงการพัฒนาถนนเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจ กระจายได้รายได้สู่ชุมชนสอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.มีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายสายทางเพื่อพัฒนาให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) ทช.จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) โดยมีการปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทให้มีความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางเข้าถึงและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นจุดชมทิวทัศน์หรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน ทช.อยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย จากจังหวัดสมุทรปราการถึงจังหวัดนราธิวาส แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะคือ
ระยะที่ 1 จากจังหวัดสมุทรสงครามถึงจังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 659 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 จำนวน 35 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ และในปี 2565 ได้เสนอของบประมาณดำเนินการอีก จำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2566
ระยะที่ 2 จากจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสงขลา ระยะทางประมาณ 555 กิโลเมตร เริ่มต้นก่อสร้างบางช่วงแล้วตั้งแต่ปี 2563 โดยมีแผนก่อสร้างขยายไหล่ทาง 25 โครงการ ปรับปรุงผิวจราจร 41 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2569 ระยะที่ 3 จากจังหวัดสมุทรปราการถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ 144.59 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2566 แนวเส้นทางประกอบด้วย แนวเส้นทางสายหลัก ความยาวรวม 88.64 กิโลเมตร, แนวเส้นทางที่แยกออกไปยังแหล่งท่องเที่ยว ความยาวรวม 48.75 กิโลเมตร และแนวเชื่อมต่อกับถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยช่วงจังหวัดสมุทรสาครถึงจังหวัดชุมพร ความยาวรวม 7.20 กิโลเมตร ระยะที่ 4 จากจังหวัดสงขลาถึงจังหวัดนราธิวาส ระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร คาดว่าจะสำรวจออกแบบในปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจออกแบบถนนเพิ่มเติมแนวเลียบเทือกเขาตะนาวศรี ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร แนวเส้นทางประกอบด้วย แนวเส้นทางสายหลัก ความยาวรวม 186 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบุรี และ 2 อำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, แนวเส้นทางที่แยกออกไปยังแหล่งท่องเที่ยว ความยาวรวม 71.30 กิโลเมตร และแนวเส้นทางที่เชื่อมกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก ความยาวรวม 87.70 กิโลเมตร
2. ถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” สนับสนุนเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร โดยปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจออกแบบระยะที่ 1 แล้ว จากจังหวัดมุกดาหารถึงจังหวัดนครพนม ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร และจะดำเนินการสำรวจออกแบบส่วนที่เหลือในระยะถัดไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565
3. ถนนเลียบชายเขาด้านทิศใต้ของเขาใหญ่ “บูรพาคีรี” มีระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งในจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระแก้ว เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ