กฟผ.จับมือจุฬาฯ เปิดมุมมองดันไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024

ผู้ชมทั้งหมด 2,273 

ปฏิเสธไม่ได้ในยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสังคมทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero)  และเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อไปสู่เป้าหมายช่วยกันหยุดโลกเดือด

ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065 พร้อมเตรียมร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยการไปสู่เป้าหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภาครัฐ และเอกชนในหลายองค์กรก็มีแผนดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่มีเป้าหมายเดียวกัน

การจัดสัมมนาก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในปัญหาของโลกเดือด และมีแนวทางในการลดผลกระทบอันที่จะเกิดจากภาวะโลกเดือด ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) จัดงาน อรุณ สรเทศน์ รำลึก 2567 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในงานดังกล่าวได้มีการประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม ระหว่าง กฟผ. จุฬาฯ และมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ พร้อมได้เปิดตัวโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตและบุคลากรของหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือ มุ่งสู่การเป็นกลุ่มคน Green talent ร่วมถึงยังเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจที่ยั่งยืนของประเทศ สู่การสนับสนุนประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

พร้อมกันนี้ภายในงานยังได้เปิดเวทีบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความท้าทายในการเดินหน้าอนาคตประเทศ : COP28 Global Stock take และความสำคัญของ Supply chain management”  โดย นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่า การดำเนินการลดภาวะที่เรียกว่าโลกเดือดนั้นการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ การเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2030 รวมถึงการเรียกร้องข้อตกลงให้ทุกประเทศลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อช่วยยับยั่งการเพิ่มของอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้แตะระดับ 1.5 องศาเซลเซยสเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2030 – 2052   

ส่วนประเทศไทยก็ได้มีการเตรียมแผนระยะยาว ระยะสั้นที่สอดคล้องกับการประชุม COP28 ดังนั้น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมทำงานกับทุกภาคส่วนให้เกิดการปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเป้าหมายแรกลดก่าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 ให้ได้ ซึ่งในแผนมีตัวเลขชัดเจน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร

อย่างไรก็ตามการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดประสิทธิภาพนั้นทาง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ คาดว่า เดือนเมษยน – พฤษภาคม 2567 ก็จะได้ประมวลผลแล้วถึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ หลังจากนั้นก็จะเสนอไปยังกฤษฎีกา และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาต่อไป ซึ่ง พ.ร.บ. นี้ก็จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายมาช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การดำเนินงานของประเทศไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นยังเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงต้องวางกรอบนโยบาย ตลอดจนการกำหนดกลไกและเครื่องมือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมาย อีกทั้งหวังว่าร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังดำเนินการจัดทำจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น” 

นายพิรุณ กล่าวเสริมว่า นอกจากการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น การบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก็ต้องใช้ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

นอกจากการบรรยายของ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แล้วยังมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ “The Path to Carbon Neutrality: Transforming Green Supply chains and Business” โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อหาแนวทางในการนำพา SMEs ของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการปรับตัวของภาคพลังงานว่า กฟผ.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS)  และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pump Storage)  เพื่อให้สามารถเก็บไฟฟ้าส่วนที่ผลิตไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ อีกทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมาย Carbon Neutrality คือเน้นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

นายกรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาคการเงินควรมีบทบาทในการให้ความรู้ ทำให้มีความเข้าใจที่ตรงกันกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงให้ข้อมูลควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสามารถตรวจสอบและประเมินต้นทุนคาร์บอน ตลอดจนกำหนดเส้นทางการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้

นายธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยสนับสนุนการมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูลคาร์บอน เพื่อรายงานให้ผู้บริหารได้รับทราบ นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายมุ่งไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน ซึ่งงสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ถูกต้อง แม่นยำ และลดต้นทุนด้วย

“ตอนนี้ข้อบังคับ กติกา หรือแรงกดดันต่างๆ ทยอยออกมา ขณะที่คนไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้  โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs มีการเตรียมความพร้อมเรื่องคาร์บอนน้อยมาก ขณะเดียวกันลูกค้าของกลุ่ SMEs มองว่าเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะไม่สามารถแข่งขันได้”

นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ตนมองว่าคนไทยกว่า 90% ไม่ทราบความจำเป็นในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และไม่ทราบแม้กระทั่งผลกระทบรุนแรงและยิ่งใหญ่ขนาดไหนที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางออกของปัญหาทำได้ 4 ข้อดังนี้ 1.ควรให้ความรู้การเข้าใจ การนำนวัตกรรมมาใช้ และความร่วมมือของสถาบันการศึกษา 2.สนับสนุนงานวิจัยของนิสิตนำไปแก้ปัญหาให้กับองค์กร ให้ได้จริงๆ 3.สถาบันการศึกษาต้องให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล หรือเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับต่างประเทศให้สามารถต่อยอดได้ 4.ต้องสร้างบุคลากรรุ่นใหม่เข้าไปสนับสนุนต่อยอดสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีการประเมินไว้ว่าธุรกิจสีเขียวมีความต้องการภาคแรงงานเพิ่มขึ้น 66% ในปี 2030

“การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมสร้างกลุ่มคนที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green talent) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างความ ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งการจะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ นั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ บุคลากรในธุรกิจนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจให้เท่าทัน และพัฒนาศักยภาพให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง”นายพิสุทธิ์ กล่าว