ผู้ชมทั้งหมด 2,324
กฟผ. ตั้งธง EGAT Carbon Neutrality ปี ค.ศ. 2050 ร่วมสร้างสังคมปลอดคาร์บอนให้คนไทย ด้วยกลยุทธ์ Triple S พร้อมเดินหน้าปลูกป่าล้านไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) และพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมกับ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โดยได้รับเกียรติจากประธานในพิธี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยภายในงาน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ประกาศนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ด้วย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ขณะที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน กฟผ. พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดย กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กฟผ. ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของกระบวนการผลิตไฟฟ้า จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายใต้การเติบโตร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย
S – Sources Transformation เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2036 รวมถึง กฟผ. ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม นอกจากนี้ยังเตรียมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050
S – Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม กฟผ. พร้อมพันธมิตรได้มุ่งเน้นไปที่การปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2031 ปีละประมาณ 100,000 ไร่ โดย กฟผ. ยังได้วางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี ค.ศ. 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน อีกด้วย
S – Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
“กฟผ. จะมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยมีมาตรการหลักในด้าน Sources คือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hydro-Floating Solar Hybrid ที่จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037 และเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่จะเข้ามาในช่วงปลายแผน มาตรการหลักด้านSink คือ การปลูกป่าล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2031 ผนวกด้วยเทคโนโลยี CCUS ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2045 และมาตรการ Support จากโครงการด้าน Energy Efficiency และ BCG Economy ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 8 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อร่วมสร้างอนาคตปลอดคาร์บอนให้กับคนไทยทุกคน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย