ผู้ชมทั้งหมด 945
กนอ. ลงนามร่วม GPSC- TTM ศึกษาและวิจัยพัฒนาโรงไฟฟ้าป้อนภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา หนุนใช้พลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า หวังยกเป็นโมเดลต้นแบบก่อนขยายผลในพื้นที่อื่น
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรกรมภาคใต้ ระหว่างกนอ. กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
และบริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย (ประเทศไทย ) จำกัด หรือ TTM เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี 2565- ปี 2566)
ทั้งนี้ กนอ. เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา นั้นเนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ได้
“ความร่วมมือครั้งนี้ กนอ.จะเป็นจัดหาข้อมูลรายละเอียดเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต รวมถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และรองรับการขยายการลงทุนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรสวนยางพาราของไทย ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางของประเทศในอนาคต” ผู้ว่า กนอ. กล่าว
ด้านนางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า GPSC มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงานและไฟฟ้าที่มีศักยภาพของประเทศ มีความพร้อมในการพัฒนาทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคงสูงสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต และมีส่วนช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายของไทยและสังคมโลก เพื่อก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) รวมถึงความพร้อมด้านแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ ที่จะนำไปสู่การเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบในพื้นที่
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันศึกษาและคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการผลิต และรูปแบบการลงทุนธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่นิคมฯ ภาคใต้ครั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับแหล่งเชื้อเพลิงทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ที่มีระบบโครงข่ายท่อขนส่งก๊าซของ TTM และพลังงานจากชีวมวลจากภาคการเกษตร ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากภาคการผลิตที่เป็นกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมฯ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้น” นางรสยากล่าว
นายคมกฤช โล่ห์เพ็ชร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TTM กล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้ให้บริการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Thai-Malaysia Joint Development Area) เรามีความพร้อมสนับสนุนการส่งก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีการจัดส่งไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซบนบกผ่าน 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งความสามารถที่จะต่อเชื่อมท่อโครงข่ายเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านเชื้อเพลิงให้กับภาคใต้ของไทย
อย่างไหรก็ตามหากโครงการนี้มีความเป็นไปได้ในการลงทุน บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าและภาคการผลิต รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น