กทพ. จ่อเสนอ 4 โครงการมูลค่ารวมกว่า 8.9 หมื่นล้าน เสนอครม.ปลายปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 8,064 

กทพ. จ่อเสนอ 4 โครงการ ทางด่วนส่วนต่อขยายฉลองรัช, ประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนตะวันออก, กะทู้ – ป่าตอง, และ Double Deck มูลค่ารวมกว่า 8.9 หมื่นล้าน เสนอ “สุริยะ” ชง ครม.ปลายปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกระทรวงคมนาคม ทั้งภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไปจัดทำรายละเอียดโครงการที่ต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และแผนระยะยาวให้มีนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 1 เดือน เพื่อที่จะมาปรับและวางแผนดำเนินการในโครงการให้ครบทุกมิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และ ทางอากาศ เพื่อให้การพัฒนาด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์เป็นไปอย่างสมบูรณ์

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพลูสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ. เตรียมรายละเอียดโครงการที่มีความจำเป็นในการดำเนินการของ กทพ. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งในเขตกรุงเทพฯ และภูมิภาครวม 13 โครงการเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 ตามนโยบาย รมว.คมนาคม ที่ได้สั่งการ ซึ่งใน 13 โครงการนี้ กทพ. จะนำเสนอ 4 โครงการเร่งด่วนที่พร้อมจะเปิดประกวดราคาทันทีหากรมว.คมนาคมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ และพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายใน 1 ปีนี้ มูลค่ารวมกว่า 89,718 ล้านบาท

สำหรับ 4 โครงการเร่งด่วนที่เตรียมนำเสนอให้ รมว. คมนาคมพิจารณานั้นประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทาง 19.25 กม. มูลค่ารวมโครงการ 24,060 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ 3,727 ล้านบาท  ค่าก่อสร้าง 20,333 ล้านบาท , 2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือระยะที่1(ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอก ด้าน ตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่ารวมโครงการ 16,960 ล้านบาท

3.โครงการทางพิเศษ จ. ภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงกะทู้ – ป่าตอง) ระยะทาง  3.98 กม. มูลค่าลงทุนโครงการ  14,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท และ 4. โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 หรือ โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) (Double Deck) ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางพิเศษ ยกระดับชั้นที่ 2 ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช รวมระยะทาง 20.09 กม. ค่าลงทุน 34,028 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการทางพิเศษที่จะดำเนินการในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงในส่วนภูมิภาคจำนวน 13 โครงการ ตามแผนแม่บทนั้นมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566-2575 แบ่งเป็น โครงการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 9 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก (ระยะทาง 18.7 กม.) ,2. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทาง 19.25 กม.

3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนน วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันออก)  ระยะทาง 11.3 กม.  ,4.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ระยะทาง 20.09 กม. , 5.โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ระยะทาง 18.5 กม.  , 6.โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม.  ,7. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 2 (ศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน – ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 11 กม. , 8. โครงข่ายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านใต้ ระยะทาง 71.6 กม.  , 9. โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี  ระยะทาง 20.5 กม. 

ส่วนโครงการทางพิเศษในภูมิภาค มี 4 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง  ระยะทาง 3.98 กม. 2.โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่- เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. , 3.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 25 กม. และ 4.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ระยะทาง 6 กม.

อนึ่งในปัจจุบัน กทพ.มีทางพิเศษเปิดให้บริการในปัจจุบัน 8 สายทาง ระยะทาง 224.6 กม. มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 1,712,521 คัน มีรายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ย 64.01 ล้านบาทต่อวัน