ผู้ชมทั้งหมด 906
กกพ. เปิดรับฟังความความเห็น “ร่างการจัดการ Bypass Gas สำหรับผู้บริหาร Pool Gas” ระหว่าง 21 ต.ค.-4 พ.ย. 2564 ชี้ให้จัดหา LNG เสริมเป็นอันดับแรก รองรับกรณีการใช้ก๊าซฯในประเทศพุ่ง
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น “ร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas สำหรับผู้บริหาร Pool Gas พ.ศ….” ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. -4 พ.ย. 2564 ทางเว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่ต้องการให้บริหารจัดการ Bypass Gas และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นภาระต่อประชาชน รวมถึงต้องสอดคล้องกับการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซเสรีระยะที่ 2
สำหรับร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการบริหารจัดการ Bypass Gas ดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ ที่ทำหน้าที่บริหารต้นทุนเฉลี่ยเนื้อก๊าซที่ส่งเข้าระบบก๊าซฯของประเทศ หรือเรียกว่า ผู้บริหาร Pool Gas ต้องปฏิบัติดังนี้
1.ให้เรียกรับก๊าซฯจากอ่าวไทย รวมถึงก๊าซฯจากแหล่ง JDA ให้เพียงพอและไม่เกินความสามารถของโรงแยกก๊าซ และบริหาร Bypass Gas เพื่อควบคุมคุณภาพก๊าซตามค่าควบคุมที่ผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซ(TSO) กำหนด
2.กรณีโรงแยกก๊าซฯ หยุดซ่อมบำรุงหรือหยุดผลิตนอกแผน ผู้บริหาร Pool Gas สามารถบริหาร Bypass Gas ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการก๊าซฯของผู้ใช้ก๊าซฯ ได้
และ 3. กรณีที่ความต้องการใช้ก๊าซฯสูงขึ้น ให้เรียกรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพิ่มเป็นอันดับแรก และหากยังไม่เพียงพอสามารถเรียกเพิ่มจากแหล่งก๊าซฯอื่นๆ รวมถึง Bypass Gas ได้เพื่อควบคุมคุณภาพก๊าซฯ
ทั้งนี้ หากกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินผู้บริหาร Bypass Gas สามารถเรียกรับ Bypass Gas เพื่อรักษาความมั่นคงระบบโดยรายงานให้ กกพ.ทราบได้ โดยผู้บริหาร Bypass Gas ต้องทำรายงานปริมาณ Bypass Gas คุณภาพก๊าซฯและเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมชี้แจงเหตุผลทุกวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อเสนอต่อ กกพ. ตลอดจนให้ผู้บริหาร Pool Gas จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานการเรียกรับจ่าย Bypass Gas ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกาศมีผลบังคับใช้และประกาศบนเว็บไซต์ของผู้บริหาร Pool Gas
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ได้นิยาม Bypass Gas คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย รวมถึงก๊าซฯจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA)ที่ขนส่งผ่านระบบท่อก๊าซฯในทะเลมายังระบบขนส่งก๊าซฯบนบกที่ระยอง โดยไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซของโรงแยกก๊าซฯที่ จ.ระยอง ซึ่ง
ก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยต้องนำเข้า LNG แล้ว 20% และในอนาคตมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30% ดังนั้น การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแหล่งก๊าซฯ ที่เดิมผลิตได้จากในประเทศ ได้ถูกใช้งานมาเป็นเวลากว่า 30ปี ก็เริ่มร่อยหรอลงแล้ว ขณะเดียวกันราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ในตลาดจร(Spot LNG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ปัจจุบัน มีราคาสูงขึ้น อยู่ที่ 35-38 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาล พยายามจะดูแลผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพ